สปสช.จับมือกรุงเทพมหานครใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจัดสรรสถานพยาบาลประจำ ให้ผู้มีสิทธิบัตรทอง 1.9 แสนราย

695 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สปสช.จับมือกรุงเทพมหานครใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจัดสรรสถานพยาบาลประจำ ให้ผู้มีสิทธิบัตรทอง 1.9 แสนราย

28 มี.ค. 66 สปสช.จับมือกรุงเทพมหานคร ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จัดสรรสถานพยาบาลประจำแก่ผู้มีสิทธิบัตรทองที่ยังไม่มีสถานพยาบาลประจำ 1.9 แสนคน ชี้ระบบจะพิจารณาเลือกสถานพยาบาลประจำจากปัจจัยหลายด้านให้เหมาะกับผู้มีสิทธิมากที่สุด เพื่อให้มีสถานพยาบาลใกล้บ้าน รักษาใกล้ใจ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการลงทะเบียนผู้มีสิทธิบัตรทองในพื้นที่กรุงเทพฯ 1.9 แสนรายที่ยังไม่มีสถานพยาบาลประจำแบบอัตโนมัติโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เลือกสถานพยาบาลใกล้บ้าน รักษาใกล้ใจ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ณ ห้องประชุมพระเทพประสิทธิมนต์ 71 ชั้น 9 อาคารภูมิพัฒน์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์

    นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่มาของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแบบอัตโนมัติเลือกสถานพยาบาลประจำตัวให้ผู้มีสิทธิบัตรทองจำนวน 1.9 แสนรายในพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากสถานพยาบาลเดิมซึ่งถูกยกเลิกสัญญาจากปัญหาการเบิกจ่ายคลาดเคลื่อน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 โดยมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบรวมกว่า 6 แสนราย ในจำนวนนี้ 4 แสนราย ไม่มีโรงพยาบาลรับส่งต่อ เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนเดิมถูกยกเลิกสัญญา สปสช.ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานครจัดโรงพยาบาลทดแทนให้เรียบร้อยแล้ว ส่วนประชาชนที่เหลือประมาณ 240,000 รายนั้น ยังไม่มีหน่วยบริการประจำ/ปฐมภูมิ และโรงพยาบาลรับส่งต่อรองรับ ระหว่างรอการจัดสรรสถานพยาบาลประจำตัว สปสช.ได้อนุโลมให้ประชาชนกลุ่มนี้เข้ารับบริการ ณ หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลในระบบ สปสช.ที่ไหนก็ได้ และมีการประชาสัมพันธ์ให้ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำอย่างต่อเนื่อง คู่ขนานกับการเร่งหาสถานพยาบาลรองรับเพิ่มเติมให้เพียงพอ

    เลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า ขณะนี้จำนวนสถานพยาบาลในกรุงเทพฯ ที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. มีจำนวนมากขึ้น โดยการลงทะเบียนในครั้งนี้ สปสช.ได้ดำเนินการในรูปแบบหรือโมเดล 5 ที่มีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งเป็น Efficient Area Manager หรือผู้จัดการระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่อย่างมีศักยภาพ โดยจะทำหน้าที่ให้เหมือนโรงพยาบาลประจำเขต ในการดูแลประชาชนในพื้นที่ของตน ร่วมกับคลินิกชุมชนอบอุ่น 113 แห่งและเครือข่ายโรงพยาบาลรับส่งต่อทั่วทั้ง กทม.

    ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนที่เหลืออยู่จำนวน 195,158 คน มีสถานพยาบาลประจำตัว สปสช.จึงดำเนินการลงทะเบียนและจัดสรรหน่วยบริการแบบอัตโนมัติโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยระบบจะพิจารณาจากข้อมูลที่อยู่ตามทะเบียนบ้านหรือที่พักอาศัย ในกรณีที่พื้นที่นั้นมีหน่วยบริการหลายแห่ง ระบบจะจัดสรรให้หน่วยบริการที่อยู่ในเครือข่ายหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุด จำนวน 8,000 - 10,000 คน/หน่วยบริการ ซึ่งผู้มีสิทธิที่พักอาศัยในบ้านหรือครัวเรือนเดียวกันก็จะให้ลงทะเบียนไปที่หน่วยบริการเดียวกัน

    นอกจากนี้แล้ว ผู้มีสิทธิที่เป็นเป็นโรคเรื้อรัง 7 โรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ จะถูกจัดสรรไปยังหน่วยบริการต่างๆ โดยคำนึงถึงสัดส่วนจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน เพื่อไม่ให้หน่วยบริการใดหน่วยบริการหนึ่งรับผู้ป่วยมากเกินไปจนกระทบกับคุณภาพการให้บริการ

    ทั้งนี้ หลังจากที่ระบบอัตโนมัติโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลลงทะเบียนหน่วยบริการประจำให้กับผู้มีสิทธิที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนเลือกสถานพยาบาลประจำ สปสช.จะดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้บุคคลที่ได้รับการลงทะเบียนรับทราบตามช่องทางที่เหมาะสม และหากไม่สะดวกไปรับบริการในหน่วยบริการที่ระบบเลือกให้ ประชาชนผู้มีสิทธิก็สามารถเปลี่ยนหน่วยบริการประจำได้ตลอดเวลา รวม 4 ครั้ง/ปี โดยการจัดสรรครั้งนี้จะไม่มีการนับครั้งของการเปลี่ยนหน่วยบริการ

    “การดำเนินการครั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจในการเข้ารับบริการ สปสช.ได้รับความร่วมมือจากหน่วยบริการทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน ร่วมให้บริการในครั้งนี้ เรามีหน่วยบริการปฐมภูมิ / ประจำ และ รพ.รับส่งต่อที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ สปสช.จัดเตรียมระบบสายด่วน สปสช. โทร.1330 รองรับเรื่องการประสานหากเตียงในกรณีจำเป็นต้องได้รับการส่งต่อเพื่อการรักษายังหน่วยบริการรับส่งต่อ เพื่อหวังให้คน กทม. ได้รับการดูแลสุขภาพที่ดี และให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสุขภาพดีน่าอยู่สำหรับทุกคน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

    นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับเขตพื้นที่ เขต 13 กรุงเทพมหานคร (อปสข.เขต 13 กทม.) กล่าวว่า การลงทะเบียนประชาชนประมาณ 1.9 แสนคนใน กทม.ให้มีหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ เพื่อความสะดวกเข้ารับบริการ OP (ผู้ป่วยนอก) และ IP (ผู้ป่วยใน) ในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือของหน่วยบริการทุกภาคส่วนทั้งกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ และคลินิกเอกชน ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมระบบบริการปฐมภูมิ ระบบบริการทุติยภูมิ-ตติยภูมิและงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อให้ประชาชนที่มีสิทธิที่ยังไม่ได้เลือกสถานพยาบาลประจำใน กทม.ได้รับการดูแลสุขภาพที่ดี

    “ทั้งนี้การจัดสรรหน่วยบริการประจำแก่ผู้มีที่ยังไม่มีหน่วยสถานพยาบาลบริการประจำ ไม่ใช่แค่การใส่ชื่อผู้มีสิทธิเข้าไปอยู่กับหน่วยบริการปฐมภูมิเท่านั้น แต่ระบบจะพิจารณาจากปัจจัยรอบด้าน เพื่อให้สถานพยาบาลที่เลือกให้นั้นเหมาะที่สุดกับผู้มีสิทธิมากที่สุด และให้สอดคล้องกับระบบบริการแบบใหม่ที่ในแต่ละพื้นที่จะมีหน่วยบริการปฐมภูมิหลายแห่งทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายโดยมีศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. เป็นแม่ข่าย (โมเดล 5) ที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ อปสข. ปี 2566-2567 เน้น 3 เรื่องหลัก คือ พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ และงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ระบบบริการทุติยภูมิ-ตติยภูมิ และการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบาง ซึ่งในระบบบริการตามโมเดล 5 นี้ ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. จะเป็น Efficient Area Manager หรือผู้จัดการระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่อย่างมีศักยภาพ โดยจะทำหน้าที่ให้เหมือนโรงพยาบาลประจำเขตในการดูและประชาชนในพื้นที่ของตน เช่นการเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง และการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง รวมทั้งการลงทะเบียนประชาชนต่างจังหวัดที่อาศัยใน กทม. ให้มีสถานพยาบาลประจำอยู่ใน กทม. เพื่อให้ได้รับบริการสาธารณสุขที่สถานพยาบาลใกล้ที่พักอาศัยในปัจจุบัน” นพ.สุวิทย์ กล่าว

    รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครสนับสนุนแนวคิดจัดสรรประชากรที่ยังไม่มีสถานพยาบาลประจำโมเดล 5 เนื่องจากสอดคล้องกับนโยบายของกรุงเทพมหานครในการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพดี ใกล้บ้านในระดับเส้นเลือดฝอย นอกจากนี้ยังมีคลินิกชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านใกล้ใจ พร้อมให้บริการครบวงจร ทั้งการดูแลรักษาสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตลอดจนถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางระยะไกล รวมทั้งลดความแออัดในสถานพยาบาลขนาดใหญ่ด้วย โดยกรุงเทพมหานครได้จัดเครือข่ายหน่วยบริการรับส่งต่อ ตามพื้นที่เขตโซนของกรุงเทพมหานคร (Bangkok Health Zoning) เพื่อสร้างความครอบคลุมการดูแลสุขภาพคนกรุงเทพฯ

    ดร.พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ,นพ.อรรถพล เกิดอรุณสุขศรี ผู้อำนวยการโรงพยาลราชพิพัฒน์ ,นพ.ภูริทัต แสงทองพานิชกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ และคณะผู้บริหาร ได้ร่วมงานในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมพระเทพประสิทธิมนต์ 71 ชั้น 9 อาคารภูมิพัฒน์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้